Delayed Speech

ทำไมเด็กออทิสติกพูดไม่ได้ พูดช้า ? 

สมองลูกเราต่างจากเด็กปกติยังไง ?

คุณหมอคะ ลูกยังพูดไม่ได้เลย อยากให้พูดได้ พูดเป็นประโยครู้เรื่อง การกระตุ้น TMS ช่วยได้มั้ยคะ ?

ช่วยได้ค่ะ แต่คุณแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการของสมอง ”เด็กปกติ” ก่อน ว่ากว่าที่เค้าจะพูดได้ต้องผ่านอะไรบ้าง เพราะถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะไม่เข้าใจในเคสออทิสติกหรือพูดช้านะคะ หมอขอพูดลงลึกระดับเซลล์สมองซึ่งเป็นต้นเหตุเลยนะ





เช่น ถ้าจะให้เด็กปกติพูดตามคำว่า “หม่ำ” น้องจะต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้


1- ตาทั้งสองข้างมองปากแม่ ว่าเคลื่อนไหวแบบไหน เม้มปากพูด “หม่ำ” แล้วเม้มปากปิดอีกที ภาพจากตาจะส่งสัญญาณผ่านถนนกลางศีรษะ ไปที่สมองส่วนการมองเห็นและความจำภาพด้านหลัง (occipital lobe)


2- ในขณะเดียวกันที่เห็นปากแม่นั้น เสียง “หม่ำ” จะเข้าหูน้องทั้งสองข้าง ส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนการได้ยินและแปลควาหมายด้านข้างหู (temporal lobe, Wernicke area)


3- สมองสองส่วนนี้จะทำงานประสานพร้อมกัน ทำให้รู้ว่าถ้าปากขยับแบบนี้ จะได้ยินเสียงว่า หม่ำ ตามหลักการของ Hebbian (ใช้สมองหลายๆส่วนช่วยกันจำ จะทำให้จำได้ดีกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า)

4- น้องต้องมีความสนใจ มีสมาธิได้บ้างจดจ่อได้บ้าง และเค้าต้องรู้ว่าเราอยากให้เค้าพูดตาม


5- สมองส่วนหน้า (premotor cortex) วางแผนล่วงหน้า ว่าจะเม้มปากยังไง วางลิ้นยังไง ขยับขากรรไกรแค่ไหน และประสานงานกับสมองน้อย (cerebellum) ที่อยู่ด้านหลังและก้านสมองให้น้องต้องกลั้นหายใจได้เพื่ออกเสียง ปอด กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อคอ ต้องทำงานประสานกันได้ดีแบบอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการกลั้นหายใจและเปล่งเสียงออกมา ถ้าน้องๆคนไหนที่ยังหายใจเหนื่อย สำลักน้ำลาย หรือยังให้ออกซิเจนอยู่ เค้าก็ไม่อยากพูด


6- เมื่อน้องพูดคำว่า “หม่ำ” ออกมา เสียงจะเข้ามาที่หูน้องอีกครั้ง สมองส่วนการได้ยินจะทำการเช็คว่าเสียงที่ตัวเองพูดมานั้น ตรงกับเสียงแม่พูดออกมาหรือเปล่า ถ้ายังไม่ถูกต้อง แม่ก็จะออกเสียงซ้ำๆ เด็กปกติจะมองและฟังอีกครั้ง พร้อมออกเสียงใหม่ให้ใกล้เคียงที่แม่พูดมา


7- เมื่อน้องออกเสียงถูกต้อง แม่จะยิ้ม ปรบมือ หอม กอด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นวงจรความสุข (reward circuit) ทำให้อยากพูด “หม่ำๆ” ให้ถูกต้อง


8- เมื่อน้องหิว ระบบประสาทอัตโนมัติ จะทำให้เด็กร้องไห้เพื่อขอนมหรืออาหาร เมื่อพูดคำว่า “หม่ำ” ถูกต้อง เด็กก็จะได้รับอาหาร เมื่อได้กินอาหาร ได้กลิ่นอาหาร ลิ้นได้รับรส ขากรรไกรขยับ รับรู้ถึงอาหาร กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย เมื่อลิ้นได้รสหวาน รสเค็ม รสมันๆ นั่นคือร่างกายน้องได้น้ำตาล เกลือแร่ กรดไขมัน และกรดอะมิโนที่จำเป็น ร่างกายจะหลั่งสารความสุข เป็นการกระตุ้นวงจรการให้รางวัลอย่างมาก


9- ทำให้น้องเรียนรู้ว่า เมื่อตัวเองหิว จะต้องพูดคำว่า “หม่ำ” จึงจะได้กินและมีความสุข ซึ่งเป็นการพูดตรงกับความหมายด้วย


10- เมื่อกินนมหรืออาหารเข้าไป ระบบประสาทอัตโนมัติจะไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย ทำให้น้องถ่ายอุจจาระปกติ ไม่มีท้องผูก


ดังนั้นการจะพูดได้ 1 พยางค์ รู้เรื่อง ตรงความหมาย น้องๆจะต้องมีระบบประสาทที่ดีพอ อย่างน้อย 10 อย่าง ภายในเวลาเสี้ยววินาที ใช้เซลล์สมองไม่ต่ำกว่าล้านเซลล์ ใช้การติดต่อระหว่างเซลล์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านครั้ง ผ่านเส้นทางที่เชื่อมโยงทั่วทั้งสมอง เรียกว่า connectivity แบ่งเป็นเส้นทางภายในสมองส่วนนั้นๆ เรียกว่า short range หรือ intra-hemisphere และเส้นทางระหว่างสมองส่วนอื่นๆ เรียกว่า long range หรือ inter-hemisphere connectivity
คราวนี้ลองดูที่รูปพีระมิดด้านล่างนะคะ จะเห็นได้ว่ากว่าน้องจะพูดได้นั้น ต้องมีพื้นฐานพัฒนาการด้านอื่นๆมาแล้ว อย่างน้อย 10 ข้อด้านบน ค่อยๆดูช้าๆค่ะ



น้องออทิสติกแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญหาการได้ยินเยอะ บางคนมีปัญหาการออกเสียงเยอะ บางคนมีปัญหาความเข้าใจ แต่เอาแบบง่ายๆ สรุปคร่าวๆ ดังนี้


1- การมองเห็นของน้องอาจจะไม่เหมือนเด็กปกติ หลายๆคนมองภาพมัวๆ มองภาพเฉพาะจุด ไม่มองตา ทำให้เค้ามองการขยับปากผิดเพี้ยนไป บางคนไม่สามารถโฟกัสที่ปากแม่ได้ จะมองเห็นทุกอย่างรอบๆตัวไปหมด เสียสมาธิง่าย


2- การได้ยินของเค้าก็อาจได้ยินเป็นเสียงสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือเป็นเสียงก้องๆ ออทิสติกหลายๆคนจะไม่สามารถตัดเสียงรบกวนได้ เค้าจะได้ยินทั้งเสียงแม่ เสียงพัดลม เสียงกระดิ่ง เสียงทีวี เสียงแอร์ดังพร้อมๆกัน เหมือนเค้าได้ยินเสียงพายุเลย ดังนั้นเสียงคำว่า “หม่ำ” ที่ถูกต้อง ก็อาจเพี้ยนไป


3- เส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างสมองแต่ละส่วนทั้งน้อยและช้า เราเรียกว่า underconnectivity และเส้นทางนี้เสียทั่วทั้งสมอง ไม่ต่ำกว่า 15 เส้นทาง หลายล้านการติดต่อ เมื่อเส้นทางระหว่างสมอง (inter-hemisphere connectivity) ทำงานช้าทำงานแย่ลง สมองส่วนนั้นก็จะเร่งการทำงานภายในให้มากขึ้น (intra-hemisphere connectivity) น้องๆจะยิ่งหมกมุ่นกับสิ่งกระตุ้น เช่น ชอบดูพัดลมหมุนๆ เล่นล้อรถ ฟังเสียงของเล่นเดิมๆ


4- จากปัญหาด้านบน ทำให้น้องไม่มีสมาธิ เพราะทั้งภาพและเสียงโดนรบกวน นึกภาพเหมือนกับมีพายุเข้า แล้วเราคุยกับอีกคนท่ามกลางพายุ


5- สมองส่วนหน้าจะพยายามวางแผนการขยับปาก ขยับลิ้นหรือขากรรไกร แต่มันผิดเพี้ยนไปหมด เพราะการมองเห็น การได้ยิน และการประสานงานไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก


6- น้องก็จะออกเสียงผิดบ่อยๆ แม่จะพูดใหม่พยายามให้น้องพูดตาม แต่ภาพและเสียงที่น้องได้รับมันไม่ดีตั้งแต่แรก ยิ่งบังคับให้น้องพูดบ่อย น้องก็ยิ่งรำคาญ อึดอัด อารมณ์เสีย ยิ่งในบางคนสมองส่วนการพูด Broca ทำงานน้อย ทำให้อยากพูดแต่พูดไม่ได้ ยิ่งอึดอัดรำคาญ กรี๊ดออกมา


7- ในเด็กออทิสติก เราพบว่าวงจรการให้รางวัล reward circuit ทั้งเล็กและทำงานน้อยกว่าเด็กปกติประมาณครึ่งนึง เวลาน้องออทิสติกพูดถูกต้อง เค้าก็อาจจะไม่ค่อยฟิน ไม่ค่อยดีใจ ไม่ตอบสนอง เพราะอ่านหน้าตาที่มีความสุขหรือรอยยิ้มของแม่ไม่เป็น มันก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะพูดให้ถูกต้องเท่าเด็กปกติ


8- เวลาน้องๆออทิสติกกินนมหรือกินอาหาร แต่การรับรสที่ลิ้นเค้าไม่ปกติ ก็ยิ่งทำให้เค้ากินอาหารได้จำกัด กินแค่บางอย่างที่เค้าชอบ ยิ่งกินของที่ชอบก็กินซ้ำๆ ทำให้ขาดสารอาหาร ขาดไฟเบอร์ ยิ่งทำให้ท้องผูกอีก จากเดิมที่ระบบประสาทอัตโนมัติก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว


9- และปัญหาทุกอย่าง ก็เป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำกันไปซ้ำกันมาแบบนี้ ยิ่งปล่อยไว้นาน น้องๆก็จะติดพฤติกรรมแย่ๆไป ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งแก้ยาก


นี่แค่การพูด 1 พยางค์ ยังต้องใช้ความพร้อมขนาดนี้ การพูดเป็นประโยค มีความหมาย ตรงกับเหตุการณ์ ยิ่งซับซ้อนไปกว่านี้อีกมากมาย ใช้การเชื่อมต่อของสมองไม่ต่ำกว่าร้อยล้านครั้ง จะยิ่งมีปัญหาขนาดไหน


< อัพเดตบทความวิชาการ