Autism Brain Underconnectivity

สมองเด็กออทิสติก ถูกประกาศล็อคดาวน์ เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ พัฒนาการเลยช้ากว่าปกติ



ในการเรียนรู้และการมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กๆต้องใช้สมองหลายส่วนทำงานติดต่อพร้อมกันใน 1-2 วินาที  ซึ่งเป็นการติดต่อระยะไกลเหมือนการเดินทางข้ามจังหวัด เรียกการติดต่อระยะไกลนี้ว่า "long range connectivity" 


ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาจะเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ เด็กจะมีขั้นตอนประมาณ 7 ขั้นตอน





1. ใช้สายตามอง อ่านปาก  (สมองส่วน frontal, occipital , parietal จะทำงานมากขึ้น)

2. ใช้หูฟังเสียง (สมองส่วน temporal lobe + parietal lobe ทำงานมากขึ้น)

3. ใช้การอ่านร่างกายภาพรวม ดูเรื่องอารมณ์ด้วย (limbic) ประมวลผลในหัวว่าพ่อแม่อยากให้พูด 

4. แพลนว่าจะขยับปากตามพ่อแม่ (cerebellum + premotor cortex, parietal) แล้วลองออกเสียง (motor cortex) 

5. แล้วฟังว่าเสียงที่ตัวเองพูดตรงกับเสียงที่ได้ยินหรือเปล่า (temporal, frontal, brainstem, parietal)

6. ดูการตอบสนอง  ถ้าเด็กพูดถูก มักจะได้รางวัลเป็นการยิ้มจากพ่อแม่ แต่ถ้าเด็กพูดผิด พ่อแม่ก็จะให้พูดใหม่หรือทำหน้าตาไม่พอใจ เด็กก็จะเรียนรู้ (reward circuit, mesolimbic pathway, mid brain)

7. ทำซ้ำๆจนคล่องปาก


ดังนั้นพัฒนาการที่เราคิดว่าง่าย จริงๆแล้วต้องใช้การสื่อสารที่ซับซ้อนข้ามไปมาจากสมองส่วนหน้าไปส่วนหลังในเสี้ยววินาที




ในเด็กปกติ (รูปซ้าย) สมองมีการติดต่อระยะไกลข้ามจังหวัดกันตลอดเวลา  มี long range connectivity ที่ดี จึงเรียนรู้ พัฒนาการ จำคำศัพท์ใหม่ๆได้เร็ว และถูกต้อง


แต่ในเด็กออทิสติก (รูปขวา) สมองโดนล็อคดาวน์ ทำให้เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ เศรษฐกิจไม่ดี เรียกว่า  underconnectivity ต้องไปพึ่งพาการสื่อสารภายในจังหวัดแทน การติดต่อระยะสั้นนี้เรียกว่า short range connectivity 


แต่การพึ่งพาภายในจังหวัดอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงทำให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการช้า เรียนรู้ช้าตามไปด้วย 


July 2021 



< อัพเดตบทความวิชาการ